ข้อมูลจังหวัดสุโขทัย
ข้อมูลทั่วไป
ตราประจำจังหวัดสุโขทัย ภาพพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ประทับบน พระแท่นมนังคศิลา ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข และทรงบริหารราชอาณาจักรแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรืองที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 1822 ถึง พ.ศ. 1842
จังหวัดสุโขทัย ใช้อักษรย่อว่า "สท"
คำขวัญของจังหวัดสุโขทัย
"มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลก ทองโบราณ สักการแม่ย่า พ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข"
ธงประจำจังหวัดสุโขทัย
เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นสี ๓ สี แถบแดงอยู่เบื้องบน แถบสีเหลืองอยู่ตรงกลาง และแถบเขียวอยู่เบื้องล่าง พื้นธงมุมบนด้านใกล้คันธง มีภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงประทับบนพระแท่นมนังคศิลาและมีคำว่าจังหวัดสุโขทัยอยู่เบื้องล่างใต้ฐานยอดคันธงชิดกับมุมบนของธงด้านเสามีแถบสีแดง สีเหลืองและสีเขียวห้อยชายมายังเบื้องล่างในลักษณะพองาม การใช้สีแดง สีเหลือง และสีเขียวเป็นพื้นธงมีความหมาย
สีแดง หมายถึง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวาง ทิศเหนือได้เมืองแพร่ เมืองน่าน ทิศตะวันตกถึงเมืองหงสาวดี ทิศตะวันออกแผ่พระราชอาณาเขตออกไปจนถึงแม่น้ำโขง ต่อแดนเวียงจันทน์และเวียงคำ ทิศใต้ได้ตลอดถึงแหลมมาลายู นับว่าดินแดนของประเทศไทยสมัยนั้นแผ่ขยายกว้างขวางยิ่งกว่าสมัยใดทั้งสิ้น
สีเหลือง หมายถึง พระพุทธศาสนา ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรืองและนิมนต์พระสังฆราชจากลังกามาปรับปรุงกิจการคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยต้องตามพุทธบัญญัติ และเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกทรงผนวช
สีเขียว หมายถึง การเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทยสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ประชาชนดำรงชีพด้วยความสบาย ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ใครใคร่ประกอบอาชีพใดก็ตามใจชอบ เจ้าเมืองไม่เก็บจังกอบ จึงอยู่กันด้วยความเป็นสุขสบาย ดังปรากฏตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ดังนี้
"…เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่อเอา จกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส…"
สภาพทั่วไปของจังหวัดสุโขทัย
สุโขทัยเป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทย เมื่อ 700 ปีที่แล้ว คำว่า “สุโขทัย” มาจากสองคำ คือ “สุขะ” และ “อุทัย” หมายความว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” รอยอดีตแห่งความรุ่งเรืองเห็นได้จากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ
ขนาดและที่ตั้ง
จังหวัดสุโขทัยตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานครตามระยะทางหลวงแผ่นดินประมาณ 440 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 6,596,092 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,122,557 ไร่
อาณาเขต
จังหวัดสุโขทัยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ เขตอำเภอศรีสัชนาลัย ติดต่อกับ อำเภอวังชิ้น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศใต้ เขตอำเภอคีรีมาศ และอำเภอกงไกรลาศ ติดต่อกับ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ทิศตะวันออก เขตอำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสำโรง และอำเภอสวรรคโลก ติดต่อกับอำเภอ พรหมพิรามอำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก เขตอำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอทุ่งเสลี่ยม ติดต่อกับ อำเภอเมืองตาก อำเภอ บ้านตากจังหวัดตาก และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดสุโขทัยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม โดยตอนเหนือเป็นที่ราบสูงมีภูเขาเป็นพืดยาวมาทาง ทิศตะวันตก พื้นที่ตอนกลางเป็นที่ราบและตอนใต้เป็นที่ราบสูง มีแม่น้ำไหลผ่านจากเหนือลงใต้ โดยผ่านพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และอำเภอกงไกรลาศ เป็นระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร จังหวัดสุโขทัยมีภูเขาที่สูงที่สุด คือ เขาหลวง ซึ่งยอดเขามีความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 27.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.2 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 1 มกราคม – 18 พฤศจิกายน 2551 ประมาณ 1,507.1 มิลลิเมตรบริเวณที่มีฝนตกมากที่สุดอยู่ตอนบนจังหวัด บริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอศรีนคร
การปกครอง
จังหวัดสุโขทัยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 84 ตำบล 843 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จำนวน 91 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 16 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 72 แห่ง
อำเภอ |
เนื้อที่
(ตร.กม.) |
จำนวน
ตำบล |
จำนวน
หมู่บ้าน |
จำนวน
บ้าน
(หลัง) |
จำนวน
อบจ. |
จำนวน
เทศบาล
เมือง |
จำนวนเทศบาล
ตำบล |
จำนวน
อบต. |
เมืองสุโขทัย |
581.474 |
9 |
86 |
34,389 |
1 |
1 |
3 |
9 |
บ้านด่านลานหอย |
1,081.11 |
7 |
71 |
12,682 |
- |
- |
2 |
6 |
คีรีมาศ |
521.892 |
10 |
100 |
15,251 |
- |
- |
2 |
9 |
กลไกรลาศ |
502.382 |
11 |
109 |
18,761 |
- |
- |
1 |
10 |
ศรีสัชนาลัย |
2,050.51 |
11 |
134 |
30,021 |
- |
- |
2 |
8 |
ศรีสำโรง |
565.731 |
13 |
118 |
22,068 |
- |
- |
1 |
12 |
สวรรคโลก |
586.192 |
13 |
117 |
27,950 |
- |
1 |
2 |
10 |
ศรีนคร |
199.865 |
5 |
49 |
8,497 |
- |
- |
1 |
5 |
ทุ่งเสลี่ยม |
569.932 |
5 |
59 |
14,692 |
- |
- |
2 |
4 |
รวมทั้งจังหวัด |
6,596.09 |
84 |
843 |
184,311 |
1 |
2 |
16 |
72 |
ประชากร
ประชากรในจังหวัดสุโขทัยส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมากจากชาวไทยดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้นานมาแล้ว โดยมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนสำเนียงภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จะมีคนอพยพมาจากท้องถิ่นอื่นบ้างไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อย เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ม้ง เย้า และลีซอ ซึ่งส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอีกส่วนหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง
เช่น จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย แพร่ ตาก และเพชรบูรณ์ ปัจจุบันชาวเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตตำบลบ้านแก่ง และตำบลแม่สิน แม่สำ ในอำเภอศรีสัชนาลัย มีจำนวนประมาณ 428 หลังคาเรือน จำนวน ประชากรของจังหวัดสุโขทัย ณ เดือน 19 กันยายน 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 601,761 คน เป็นชาย 294,824 คน หญิง 306,937 คน สำหรับอำเภอที่มีประชากรมากที่สุดคือ อำเภอเมืองสุโขทัย รองลงมาคืออำเภอ ศรีสัชนาลัย และอำเภอสวรรคโลก อำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ อำเภอศรีนคร ความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยในจังหวัด เท่ากับ 95 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร
เศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ประมาณการในปี 2549 เท่ากับ 20,696 ล้านบาท/ปี
รายได้เฉลี่ยต่อต่อคนต่อปี (GPP Per Capital)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรจังหวัดสุโขทัย เท่ากับ 33,333 บาท/คน/ปี
การเงินและการธนาคาร
จำนวนสาขาธนาคารของจังหวัดสุโขทัยรวม 31 แห่ง จำนวนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 เท่ากับ 13,887 ล้านบาท และสินเชื่อเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 จำนวน 7,543 ล้านบาท โดยสัดส่วนสินเชื่อเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝาก คิดเป็นร้อยละ 54.32
ภาวะการเงินจังหวัดสุโขทัย
ภาพรวมสภาพคล่องทางการเงินของระบบเศรษฐกิจจังหวัดขยายตัว พิจารณาจากสัดส่วนสินเชื่อ ต่อเงินฝากรวมของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. คิดเป็นร้อยละ 120.60 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 108.28 ในปี 2550
แรงงานและการประกอบอาชีพ
ประชากรของจังหวัดสุโขทัย จำนวน 582,623 คน ที่อยู่ในวัยแรงงาน (ประชากรทุกคนที่อายุ 15 ปี ขึ้นไป) มีจำนวนกำลังแรงงานรวม 473,109 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ประชากรในวัยแรงงานที่มีงานทำ หรือกำลังหางาน หรือรองาน มีจำนวน 337,509 คน ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นผู้มีงานทำ 325, 544 คน เป็นผู้ว่างงาน 7,774 คน
การเกษตรกรรม
จังหวัดสุโขทัยมีพื้นที่ถือครองทางเกษตร จำนวน 2,065,493 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 50.10 ของพื้นที่จังหวัด โดยจำแนกเป็นพื้นที่นา ร้อยละ 63.16 พื้นที่พืชไร่ ร้อยละ 24.98 พื้นที่ไม้ผลและไม้ยืนต้น ร้อยละ 11.37 และ อื่น ๆ ร้อยละ 0.79 พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย ได้แก่ ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพด อ้อยโรงงานและใบยาสูบเบอร์เลย์ มีมูลค่าการผลิตรวม 2,092,801 เมตริกตัน
อุตสาหกรรม
จังหวัดสุโขทัยตั้งอยู่ในเขตการส่งเสริมการลงทุนเขต 3 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 424 แห่ง โดยอุตสาหกรรมที่มีมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่อุตสาหกรรมขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 20.69 รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 16.87 และอุตสาหกรรมอโลหะ ร้อยละ 12.15 ตามลำดับ ขนาดโรงงานแยกตามเงินทุน จังหวัดสุโขทัยมีโรงงานขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง โรงงานขนาดกลาง 13 แห่ง และโรงงานขนาดเล็ก จำนวน 505 แห่ง และโรงสีข้าวทั้งหมด 28 แห่ง
จังหวัดสุโขทัย มีหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุโขทัย รวม 189 หน่วยงาน ประกอบด้วย ราชการบริหารส่วนภูมิภาค 39 หน่วยงาน ราชการบริหารส่วนกลาง 50 หน่วยงาน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 9 หน่วยงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 91 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 16 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 72 แห่ง
การบริหารงบประมาณจังหวัด
ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2549 – 2551 ของจังหวัดสุโขทัย มีดังนี้
งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2550 และ 2551 ขยายตัวร้อยละ 6.22 และ 4.72 ตามลำดับ โดยในปี 2551 ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 7,225.316 ล้านบาท เป็นงบประจำ 4,096.017 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.68 งบลงทุน 3,129.299 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.32
การเบิกจ่าย ภาพรวมสามารถเบิกจ่ายเกินกว่าเป้าหมาย ปี 2549 - 2551 เบิกจ่ายได้ร้อยละ 93.83 , 100.53 และ 98.05 ตามลำดับ งบลงทุน เบิกจ่าย จำนวน 1,904.405 , 2,645.946 และ 2,811.005 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.92 , 95.28 และ 89.83 ตามลำดับ ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย
ผลการเบิกจ่ายงบประมาณจังหวัดสุโขทัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
จังหวัดสุโขทัยได้รับจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 จำนวน 7,225.316 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 7,084.372 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.05 ส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง เบิกจ่ายจำนวน 4,313.497 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94.40 ส่วนภูมิภาค เบิกจ่ายจำนวน 1,017.121 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.75 , ส่วนท้องถิ่น เบิกจ่าย จำนวน 1,378.047 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 96.74 และงบกลาง เบิกจ่ายจำนวน 375.707 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 186.39 ของเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร) โดยจำแนกเป็น
- ส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 4,569.260 ล้านบาท เบิกจ่ายจำนวน 4,313.497 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94.40 ของเงินงบประมาณส่วนกลางที่ได้รับจัดสรร
- ส่วนราชการสังกัดส่วนภูมิภาค ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 1,029.984 ล้านบาท เบิกจ่ายจำนวน 1,017.121 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.75 ของเงินงบประมาณที่ส่วนภูมิภาคได้รับจัดสรร
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 1,424.503 ล้านบาท เบิกจ่ายจำนวน 1,378.047 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 96.74 ของเงินงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรร
- งบกลาง ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 201.569 ล้านบาท เบิกจ่ายจำนวน 375.707 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 186.39 ของเงินงบประมาณงบกลางที่ได้รับจัดสรร
- งบประจำ ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 4,096.017 ล้านบาท สามารเบิกจ่ายได้จำนวน 4,273.367 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 104.33 ของเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร (รวมถึงงบประจำที่เป็นงบกลางแบบไม่มีงวด ได้แก่ เงินสมทบและชดเชยของของข้าราชการและลูกจ้างฯ , ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ ฯลฯ ด้วย) และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.69 ของเงินงบประมาณทั้งปีที่ได้รับจัดสรร
- งบลงทุน ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 3,129.299 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 2,811.005 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89.83 ของเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.31 ของเงินงบประมาณทั่งปีที่ได้รับจัดสรร
|